ตรอทสกี ทฤษฏีปฏิวัติถาวร
ในช่วงแรกๆ ของยุคทุนนิยม นักปฏิวัติมาร์คซิสต์ (รวมทั้งมาร์คซ์ และเองเกิลส์เอง) คิดว่าชนชั้นนายทุนจะเป็นแนวร่วมกับชนชั้นกรรมาชีพในการล้มระบบล้าหลังแบบขุนนางที่ยังตกค้างอยู่ในประเทศต่างๆ ของยุโรป เช่นเยอรมัน แต่หลังจากความล้มเหลวของการปฏิวัติทั่ยุโรปในปี 1848 ความ ขี้ขลาดและจุดยืนปฏิกิริยาอนุรักษ์นิยมของชนชั้นนายทุนก็ปรากฏให้เห็นชัด การปฏิวัติฝรั่งเศสในปี 1789 เป็นการปฏิวัติครั้งสุดท้ายของชนชั้นนายทุนที่มีความก้าวหน้า เพราะหลังจากนั้นชนชั้นนายทุนจะกลัวชนชั้นกรรมาชีพ ซึ่งเป็นชนชั้นใหม่ที่เกิดขึ้นในระบบทุนนิยม มากกว่าความเกลียดชังที่นายทุนมีต่อขุนนางเก่า ฉะนั้นชนชั้นนายทุนจะไม่สนับสนุนการปฏิวัติใดๆที่อาจก่อให้เกิดการปลุกระดมชนชั้นกรรมาชีพอย่างเด็ดขาด มาร์คซ์จึงสรุปว่าหลังจากปี 1848 เป็นต้นไปชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเป็นผู้นำการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงสังคมเองโดยไม่หวังอะไรจากนายทุน
แต่การปฏิวัติในขั้นตอนแรกควรจะนำไปสู่สังคมแบบไหน? ประชาธิปไตยทุนนิยม(เผด็จการของชนชั้นนายทุน) หรือประชาธิปไตยสังคมนิยม(เผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพ)?
มาร์คซ์ มีความเห็นว่าในเมื่อชนชั้นกรรมาชีพนำและทำการปฏิวัติเอง กรรมาชีพไม่น่าจะหยุดอยู่แค่ขั้นตอนทุนนิยมประชาธิปไตยที่ตนเองยังอยู่ในสภาพที่ถูกกดขี่ขูดรีดต่อไป แต่ควรจะเชื่อมโยงการปฏิวัติประชาธิปไตยทุนนิยมให้เลยไปถึงการปฏิวัติสังคมนิยม "อย่างถาวร" ฉะนั้นในปี 1850 มาร์คซ์เสนอว่าชนชั้นกรรมาชีพเยอรมันจะต้องไม่ประนีประนอมกับแนวความคิดของชนชั้นนายทุนเสรีนิยมหรือปัญญาชนที่เป็นชนชั้นนายทุนน้อยอีกต่อไป:
"ในขณะที่นายทุนน้อยต้องการยับยั้งการปฏิวัติให้จบสิ้นโดยเร็วที่สุด ผลประโยชน์ของเราตรงกันข้าม เราต้องการและมีภาระหน้าที่ที่จะเคลื่อนไหวต่อสู้เพื่อการปฏิวัติที่ทำลายอำนาจปกครองของชนชั้นผู้ถือกรรมสิทธิ์ทั้งหลาย และสถาปนาอำนาจรัฐภายใต้ชนชั้นกรรมาชีพอย่างถาวร สำหรับเรา เราจะ ไม่พอใจในการปรับเปลี่ยนรูปแบบของทรัพย์สินเอกชน เราต้องทำลายมัน เราจะไม่พอใจในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งทางชนชั้น เราต้องทำลายระบบชนชั้น และ เราจะไม่หวังปรับปรุงสังคมที่มีอยู่ แต่ต้องสร้างสังคมใหม่ ....
เป็นที่ปรากฏอย่างชัดเจนอยู่แล้วว่าในการต่อสู้นองเลือดในวันข้างหน้า เหมือนกรณีการต่อสู้ที่แล้วมา ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องเป็นชนชั้นหลักที่สู้เพื่อชัยชนะด้วยความกล้าหาญ ความมั่นใจ และความเสียสละ และในการต่อสู้ครั้งนี้ชนชั้นนายทุนน้อยจะลังเลใจและหยุดนิ่งนานที่สุดที่จะนานได้ตามเคย แต่พอการต่อสู้เกิดขึ้นอย่างจริงๆ จังๆ เขาจะคว้าชัยชนะมาเป็นของเขาเองและเรียกร้องให้ชนชั้นกรรมาชีพรักษาความสงบและกลับไปทำงาน เขาจะพยายามห้ามมาตรการสุดขั้วและยับยั้งไม่ให้กรรมาชีพได้รับผลประโยชน์จากชัยชนะ ...
ชนชั้นกรรมาชีพเท่านั้นที่จะเป็นผู้ต่อสู้อย่างถึงที่สุดกับทุนนิยม จนได้รับชัยชนะ... และสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อชนชั้นกรรมาชีพเข้าใจผลประโยชน์ของชนชั้นตัวเองอย่างชัดเจน สร้างพรรคการเมืองอิสระของกรรมาชีพเอง และไม่หลงเชื่อคำแนะนำจากพวกนายทุนน้อยประชาธิปไตยสองหน้าที่เสนอว่า กรรมาชีพไม่ต้องมีพรรคของตนเอง... คำขวัญของกรรมาชีพจะต้องเป็น ปฏิวัติให้ถาวรไปเลย!
กรรมาชีพไทยหลายคนเวลาอ่านข้อเขียนข้างบนของมาร์คซ์คงจะนึกถึงการต่อสู้ของกรรมาชีพเมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ และ พฤษภาคม ๒๕๓๕
ก่อนการปฏิวัติรัสเซียในปี 1917 เลนิน ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำการปฏิวัติ ได้เคยมีจุดยืน(ที่เขียนในหนังสือ สองยุทธวิธีของสังคมนิยมประชาธิปไตย ว่าการปฏิวัติที่กำลังจะเกิดต้องนำโดยชนชั้นกรรมาชีพที่ทำแนวร่วมกับชาวนา แต่ในขั้นตอนแรก เนื่องจากความล้าหลังของประเทศรัสเซียที่มีชาวนา 130 ล้านคน เมื่อเทียบกับกรรมาชีพแค่ 3 ล้านคน การปฏิวัติจะสถาปนาระบบประชาธิปไตยทุนนิยมก่อน แล้วค่อยทำการปฏิวัติไปสู่สังคมนิยมในภายหลัง แต่ใน "วิทยานิพนธ์ เมษายน 1917" ของเลนิน เลนินเปลี่ยนใจเสนอว่าการปฏิวัติที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องนำไปสู่ขั้นตอนของสังคมนิยมทันที ซึ่งตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในเดือนตุลาคม 1917 ฉะนั้นจะเห็นได้ว่าเลนินหันมาสนับสนุนจุดยืน "การปฏิวัติถาวร" ของมาร์คซ์ที่ เคยเสนอในปี 1850
ส่วนผู้นำการปฏิวัติรัสเซียคนสำคัญอีกคนที่เป็นเพื่อนร่วมงานอย่างสนิทของเลนิน คือ ลีออน ตรอทสกี เขามีจุดยืนสนับสนุนการปฏิวัติถาวรของมาร์คซ์ มาตั้งแต่ปี 1906 ดังที่จะเห็นในบทความชิ้นต่อไป
ความสำคัญของทฤษฎีการปฏิวัติถาวรสำหรับสังคมไทยในปัจจุบัน คือสามารถอธิบายได้ว่าทำไมกรรมาชีพไทยต่อสู้ในเหตุการณ์ ๑๔ ตุลา และ พฤษภา ๓๕ แต่ไม่ได้รับผลประโยชน์ตอบแทนเท่าใดนัก และที่สำคัญยิ่งกว่านั้น ทฤษฎีนี้ชี้ให้ชนชั้นกรรมาชีพเห็นว่าในการต่อสู้ในอนาคต ชนชั้นกรรมาชีพจะต้องมีองค์กร และแนวความคิดที่เป็นอิสระจากแนวของชนชั้นอื่น และท้ายสุดชนชั้นกรรมาชีพมีภาระที่จะต้องต่อสู้เพื่อการปฏิวัติถาวรที่นำไปสู่ระบบสังคมนิยมอย่างไม่หยุดยั้ง
ผลของการต่อสู้แบบหยุดยั้งอยู่แค่ขั้นตอนประชาธิปไตยนายทุนไม่ได้ช่วยให้มีการหลีกเลี่ยงการนองเลือดแต่อย่างใด ตรงกันข้าม นักปฏิวัติชาวฝรั่งเศสที่ชื่อ เซนต์ จัสด์ เคยตั้งข้อสังเกตว่า "ผู้ที่ทำการปฏิวัติครึ่งใบเป็นผู้ที่ฝังศพตัวเอง" เหตุการณ์ทารุณและนองเลือดในวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ในประเทศไทย หรือการขึ้นมามีอำนาจของฮิตเลอร์ในเยอรมันหลังความล้มเหลวของการปฏิวัติกรรมาชีพ เป็นเครื่องพิสูจน์ความจริงของข้อ สังเกตนี้
หลายคนที่เคยใกล้ชิดกับพรรคคอมมิวนิสต์ไทย(พ.ค.ท.)ในอดีต จะทราบดีว่า พ.ค.ท. ถือนโยบายตาม สตาลิน และ เหมาเจ๋อตุง ที่เสนอว่าการปฏิวัติในประเทศไทยในขั้นตอนแรก จะต้องเป็นการปฏิวัติเพื่อประชาธิปไตยทุนนิยม และชนชั้นกรรมาชีพจะต้องสร้างแนวร่วมและประนีประนอมกับชนชั้นนายทุนน้อย และชนชั้นนายทุนชาติ ปัจจุบันนี้ยังมีนักเคลื่อนไหวไม่น้อยที่เชื่อเรื่องนี้อยู่โดยเฉพาะคนเดือนตุลาที่เข้าไปในพรรคไทยรักไทย การพิสูจน์ว่าสายสตาลิน-พ.ค.ท.ผิดพลาด ตั้งอยู่บนฐานความเป็นจริงในสังคมไทย เพราะเราต้องถามว่านโยบายนี้ให้อะไรกับกรรมาชีพไทย?
สตาลิน เป็นผู้ที่ขึ้นมามีอำนาจในรัสเซียบนซากศพของความล้มเหลวในการปฏิวัติชนชั้นกรรมาชีพ เขาเป็นตัวแทนของชนชั้นข้าราชการที่ต้องการสร้างรัสเซียให้เป็นใหญ่โดยการขูดรีดกดขี่แรงงานและชาวนา ฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดา ที่สตาลินพยายามปกปิดความคิดของตรอทสกีที่พยายามทะนุถนอมแนวมาร์คซิสต์หลังจากที่เลนินเสียชีวิตไป สตาลินจำต้องฆ่าตรอทสกีและลบใบหน้าของ ตรอทสกีออกจากรูปถ่ายต่างๆที่ถ่ายในสมัยการปฏิวัติ 1917 และพ.ค.ท.จำต้องห้ามไม่ให้สมาชิกพรรคอ่านข้อเขียนของตรอทสกี แต่ ณ บัดนี้ พ.ค.ท.ไม่มีตัวตนเป็นองค์กรอีกแล้ว และข้อเขียนของตรอทสกีบางส่วนก็ได้ถูกนำมาแปลเป็นภาษาไทยให้ชนชั้นกรรมาชีพไทยอ่าน